การประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ
การให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามการส่งออกของเสียอันตราย
(Basel Ban Amendment)
สามารถดาวโหลดน์เอกสารประชุมได้ที่นี่
(presentation)
1. หลักการและเหตุผล
1.1 ด้วยคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ในคราวการประชุมครั้งที่ 1-2/2550 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ได้มีมติเห็นชอบในการปฏิบัติตามพันธกรณีตามมติที่ประชุมใหญ่ภาคีอนุสัญญาบาเซลสมัยที่ 8 ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียเชิงลึกในการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของอนุสัญญาบาเซล และเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของอนุสัญญาบาเซลของประเทศไทย ภายใต้คณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล เพื่อวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งในกรณีที่ให้สัตยาบันและไม่ให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของอนุสัญญาบาเซลเพื่อเสนอรายงานต่อคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีคำสั่งคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ที่ 1/2550 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2550 แต่งตั้งคณะทำงานฯ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
1.2 กรมควบคุมมลพิษ โดยสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะทำงานศึกษาการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของอนุสัญญาบาเซลของประเทศไทย ได้มอบหมายให้ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ดำเนินการจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ความพร้อมในการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามการส่งออกของเสียอันตราย และจัดประชุม
เชิงปฏิบัติการเรื่องข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามการส่งออกของเสียอันตราย ระหว่างคณะทำงานฯ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 และ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551 รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อรายงานผลการวิเคราะห์ดังกล่าว จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชนผู้สนใจทั่วไป จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่สนับสนุนการให้สัตยาบันฯ เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่เน้นการนำเข้า
ของเสียอันตรายและสร้างความชัดเจนต่อท่าทีของประเทศในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการที่มีกรอบการดำเนินงานและเวลาที่ชัดเจนในการให้สัตยาบันฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการมีโอกาสในการปรับตัว และในระยะยาวควรพิจารณาจัดเตรียมมาตรการห้ามนำเข้าของเสียอันตรายทั้งหมดจากประเทศในและนอกภาคผนวก 7
1.3 กรมควบคุมมลพิษได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ และการประชุมรับฟังความคิดเห็น นำมาจัดทำแผนปฏิบัติการการดำเนินงานให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามส่งออกของเสียอันตราย ซึ่งประกอบด้วยแผนระยะสั้น 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) จำนวน 4 มาตรการ (17 กิจกรรม) และแผนระยะยาว 6 ปี (พ.ศ. 2557-2562) จำนวน 4 มาตรการ (4 กิจกรรม) รวมทั้งสิ้น 8 มาตรการ และจัดทำสรุปผลการดำเนินงานเสนอให้คณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซลพิจารณา
1.4 คณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ในการประชุมครั้งที่ 1-1/2551 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 ได้พิจารณาการเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามส่งออกของเสียอันตรายและแผนปฏิบัติการในการดำเนินงานให้สัตยาบันฯ ตามที่กรมควบคุมมลพิษ
เสนอแล้ว มีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามส่งออกของเสียอันตรายของประเทศไทย โดยการให้สัตยาบันฯ ของประเทศไทยนี้จะกระทำก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีความพร้อมในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ให้สอดคล้องเป็นไปตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการการดำเนินงานให้สัตยาบันฯ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษรับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ในการปฏิบัติตามข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่ข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล ข้อดีข้อเสียของการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขฯ และมาตรการเยียวยากรณีที่การให้สัตยาบันฯ ดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้แก่สาธารณชนทราบ เช่น การเผยแพร่บนเว็บไซต์ ฯลฯ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพิ่มเติมในวงกว้าง ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก่อนเสนอต่อ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาดำเนินการต่อไป กรมควบคุมมลพิษ พิจารณาแล้วเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ครั้งที่ 1-1/2551 และสอดคล้องตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงได้กำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามส่งออกของเสียอันตรายขึ้น
2. วัตถุประสงค์
เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลในการห้ามการส่งออกของเสียอันตราย ใน 3 ประเด็น ได้แก่
2.1 ข้อดี-ข้อเสียของการให้หรือไม่ให้สัตยาบันฯ ของประเทศไทย
2.2 ผลกระทบของการให้สัตยาบันต่อประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
2.3 แนวทางการแก้ไขหรือเยียวยาของรัฐบาลต่อผู้ได้รับผลกระทบ
3. กำหนดการประชุม
กำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นรวม 4 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายน 2552 โดยแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายได้แก่ (1) หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิ (2) ผู้ประกอบการและภาคเอกชน (3) องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา ประชาชนและบุคคลทั่วไป และ (4) ทุกภาคส่วน
ที่
|
การจัดรับฟังความคิดเห็น
แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย
|
กำหนดการ
(ปี 2552)
|
สถานที่
|
พ.ค.
|
มิ.ย.
|
1
|
หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 50 คน
|
22
|
|
ห้องประชุม 202 ชั้น 2 อาคาร
กรมควบคุมมลพิษ
|
2
|
ผู้ประกอบการและภาคเอกชน จำนวน 50 คน
|
29
|
|
ห้องประชุม 202 ชั้น 2 อาคารกรมควบคุมมลพิษ
|
3
|
องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และประชาชน ทั่วไป จำนวน 50 คน
|
|
19
|
ห้องประชุม 202 ชั้น 2 อาคารกรมควบคุมมลพิษ
|
4
|
ทุกภาคส่วน จำนวนรวม 100 คน
|
|
22
|
โรงแรม/นอกสถานที่
ในกรุงเทพ (ยังไม่กำหนด
|
หมายเหตุ กำหนดการและสถานที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ส่วนของเสียอันตราย สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย จะได้จัดทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป
|